News Flash
รมว.คลัง แจงตัวเลขภาษีนำเข้าสหรัฐ 18% เป็นเพียงสมมติฐาน ขณะที่ไทยเตรียมเดินทางไปเจรจาสัปดาห์นี้ นายพิชัย ชุณหวชิระ รมว.คลัง ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่าประเทศไทยได้ข้อยุติการเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐแล้วที่อัตราภาษี 18% โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะขณะนี้การเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งอัตราภาษี 18% ที่ถูกหยิบยกขึ้นมานั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักเศรษฐศาสตร์ ใช้เป็นข้อสมมติฐานในการจำลองผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น นอกจากนี้ล่าสุดมีการเปิดเผยว่ารัฐบาลไทยได้คิวเจรจาภาษีกับสหรัฐแล้ว โดยเตรียมเดินทางไปเจรจาสัปดาห์นี้ โดยมีกำหนดที่จะหารือกับนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รมว.คลังของสหรัฐ นอกจากนั้นยังมีนัดหมายกับหน่วยงานสำคัญของสหรัฐด้วย (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)
Implication
การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐ เริ่มมีความคืบหน้า ไทย-สหรัฐฯ เริ่มเจรจาภาษีนำเข้าตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. และไทยได้ส่งข้อเสนอให้สหรัฐฯ พิจารณาตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. โดยคณะทำงานไทย คาดหวังว่าอัตราภาษีที่ไม่เกิน 10% ยังมีความเป็นไปได้ เทียบกับที่สหรัฐเคยประกาศไว้ที่ 36% ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2025 จากนั้นได้ชะลอออกไปเป็นเวลา 90 วัน แต่ยังเก็บภาษีขั้นต่ำทุกประเทศ 10% และในระหว่างนี้ได้เปิดโอกาสให้คู่ค้าแต่ละประเทศยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ โดยมีเวลาก่อนที่จะถึงเส้นตายวันที่ 9 ก.ค. 2025 หากเจรจาไม่สำเร็จก็จะถูกเรียกเก็บภาษีตามที่ได้เคยประกาศไว้ โดยประเทศที่โดนภาษีสูงสุดคือ กัมพูชา 49% รองลงมาคือ สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% เมียนมา 44% และไทย 36% ขณะที่จีนโดน 34% อินเดีย 26% เกาหลีใต้ 25% ญี่ปุ่น 24%
สำหรับประเทศที่มีความคืบหน้าในการเจรจามากสุดคือ จีน ที่ทั้งสองประเทศเห็นด้วยกับ ภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ จะลดลงเหลือ 30% ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขครั้งแรกที่ 34% เพียงเล็กน้อย ทำให้เรามองว่าอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐจากประเทศไทย ยังมีความเสี่ยงที่จะถูกเรียกเก็บในอัตราที่สูงเกินกว่า 10% ที่รัฐบาลไทยคาดไว้
กลุ่มส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) ยังมีความเสี่ยงมากสุด เนื่องจากมีรายได้สหรัฐสูงถึง 50-60%
(-) Pet Food (Neutral): ปัจจุบัน AAI มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 60% และ ITC 50% ขณะที่หากอิงอัตราภาษีนำเข้าก่อนการประกาศมาตรการในเดือน เม.ย. 2025 เดิมสหรัฐไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงจากไทย (ปัจจุบัน baseline tariffs อยู่ที่ 10%)
ทั้งนี้เราประเมิน sensitivity กรณีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ที่ 18% (ตามตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เป็นข้อสมมติฐานในการจำลองผลกระทบทางเศรษฐกิจ) จะกระทบกำไร AAI ปี 2026E (เต็มปี) ราว -10% และ ITC -7% อิงสมมติฐานว่ายอดขายจากสหรัฐจะลดลง 18% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขอัตราภาษีที่คาดว่าจะถูกเรียกเก็บ
(-) TU (ถือ/เป้า 10.50 บาท): มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐ 40% ขณะที่หากอิงอัตราภาษีนำเข้าก่อนการประกาศมาตรการในเดือน เม.ย. 2025 เดิมสหรัฐมีการเก็บภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องจากไทยราว 9-10% เราประเมิน sensitivity กรณีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐอยู่ที่ 18% จะกระทบกำไร TU ปี 2026E (เต็มปี) ราว -3-5%
(-) กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าว ได้แก่ PLUS (ถือ/เป้า 3.50 บาท), COCOCO (ซื้อ/เป้า 11.50 บาท): PLUS มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ 44% เราประเมินยอดขายสหรัฐที่ลดลง -8% (ปัจจุบันเสียอยู่ที่ 10%) จะกระทบกำไรปกติของบริษัทที่ -3.5% และ COCOCO มีสัดส่วนรายได้จากสหรัฐ 24% ประเมินยอดขายสหรัฐที่ลดลง -8% จะกระทบกำไรปกติของบริษัทที่ -2% อย่างไรก็ตามเรามองความต้องการผลิตภัณฑ์มะพร้าวไทยในตลาดโลกยังสูง และบริษัทได้มีการปรับขึ้นราคาไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้มองผลกระทบที่จำกัด
(-) NER (ถือ/เป้า 5.00 บาท): แม้ปัจจุบันไม่มีสัดส่วนรายได้ส่งออกไปสหรัฐโดยตรง แต่เรามองว่าบริษัทมีโอกาสได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ลูกค้าของบริษัทมีการส่งออกล้อยางไปสหรัฐ เบื้องต้นเราประเมินสำหรับยอดขายโดยรวมของ NER ที่ลดลงทุกๆ -5% จะกระทบกำไร ปี 2026E (เต็มปี) ราว -6%
(0) SAPPE (ถือ/เป้า 33.50 บาท) เรามองว่ากระทบจำกัด เนื่องจาก distributor ที่สหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบภาษี ทั้งนี้ SAPPE ส่งออกไปสหรัฐประมาณ 5%
(0) SCGP (ขาย/เป้า 12.00 บาท), SCC (ขาย/เป้า 140.00 บาท) เรามองว่าผลกระทบจำกัดเนื่องจากตลาดสหรัฐคิดเป็นประมาณ 4% ของรายได้รวมของ SCGP และเพียง 1% ของรายได้รวมของ SCC เท่านั้น
(0) EPG (ซื้อ/เป้า 3.40 บาท) กระทบจำกัด โดยโรงงาน Aeroflex ที่สหรัฐ มีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทย จะกระทบต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น แต่บริษัทมีแผนที่จะปรับเพิ่มราคาขายขึ้นชดเชย ซึ่งปัจจุบันคู่แข่งมีการปรับเพิ่มราคาขายแล้ว