News Flash
ครม. เห็นชอบขยายเวลาโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ไปจนถึง 30 ก.ย. 25 ครม. มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลารับสมัครเข้าร่วมโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ไปจนถึง 30 ก.ย. 25 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อ 30 มิ.ย. 25 โดยพิจารณาคุณสมบัติลูกหนี้ไว้ที่ 31 ต.ค. 24 และได้ขยายคุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทุกกลุ่ม และช่วยเหลือประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ดังนี้
1. "มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์" ขยายให้รวมถึงลูกหนี้ที่ค้างชำระมากกว่า 365 วัน และลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1-30 วัน ที่เคยมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งประเภทลูกหนี้ และวิธีการให้ความช่วยเหลือยังคงเหมือนเดิม (เดิม 31-365 วัน) i) สินเชื่อบ้านและ/หรือ Home for Cash ที่ไม่เกิน 5,000,000 บาท, ii) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ (Car for cash) ไม่เกิน 800,000 บาท และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ และ/หรือ Car for cash วงเงิน 50,000 บาท, iii) สินเชื่อธุรกิจสำหรับ SMEs ที่ไม่เกิน 5,000,000 บาท โดยจะลดการผ่อนค่างวดในปีที่ 1 ชำระค่างวด 50% ปีที่ 2 ชำระค่างวด 70% และปีที่ 3 ชำระค่างวด 90% ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และยกเว้นดอกเบี้ยให้ หากลูกหนี้ทำตามเงื่อนไขของมาตรการได้ครบ 3 ปี
2. “มาตรการจ่าย ปิด จบ” ขยายยอดคงค้างหนี้ ให้ครอบคลุมภาระหนี้จำนวน 10,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) หากเป็น Unsecured Loan และ 30,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) หากเป็น Secured Loan โดยให้จ่ายเพียง 10% เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชีทันที
3. เพิ่มมาตรการใหม่ "มาตรการจ่าย ตัด ต้น" สำหรับสินเชื่อ Unsecured Loan ที่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อบัญชี โดยให้ผ่อนชำระคืนเป็นงวดๆ (Term Loan) ขั้นต่ำที่ 2% ของยอดคงค้าง เป็นระยะเวลา 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยให้เลย หากลูกหนี้สามารถทำตามเงื่อนไขได้ครบ 3 ปี
รมช.คลัง คาดว่าการขยายโครงการ "คุณสู้ เราช่วย" ในครั้งนี้ จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้เพิ่มเติมอีกกว่า 1.8 ล้านราย หรือ 2.0 ล้านบัญชี ยอดสินเชื่อคงค้างรวม 310,000 ล้านบาท จากทั้งหมดที่ 1.2 ล้านล้านบาท (รวมกับเฟส 1 ที่ 8.9 แสนล้านบาท) (ที่มา: ธปท., สำนักข่าวอินโฟเควสท์)
Implication
เรามีมุมมองเป็นกลาง ต่อการยืดอายุของโครงการคุณสู้เราช่วยออกไปอีก 3 เดือน สิ้นสุด 30 ก.ย. 25 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อ 30 มิ.ย. 25 โดยเฟส 1 มียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 4.6 แสนล้านบาท โดยคิดเป็นสินเชื่อที่เข้าร่วมโครงการนี้ไม่มากราว 1-2% ของสินเชื่อรวม โดยมาตรการนี้จะช่วยให้มีสำรองฯและ NPL ที่ลดลงได้ในระยะยาว หากลูกหนี้ทำได้ตามเงื่อนไขให้ครบ 3 ปี แต่แลกมาด้วย NIM ที่หายไปในทันที (Loan yield จะลดลง จาก EIR ที่ลดลงเพราะไม่มีการรับรู้ดอกเบี้ย 3 ปี)
โดยมาตรการข้อ 1-2 เป็นมาตรการเดิมในเฟส 1 แต่ข้อ 1 มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ มีการเพิ่มเงื่อนไขค้างชำระตั้งแต่ 1-30 วัน หากลูกหนี้เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้ว และให้กับลูกหนี้ที่ค้างมากกว่า 365 วัน (เดิมให้เฉพาะที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-365 วัน) ซึ่งมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 4.6 แสนล้านบาท
ส่วนข้อที่ 2 มาตรการจ่าย ปิด จบ มีการขยายวงเงินคงค้างเป็น 10,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) หากเป็น Unsecured Loan และ 30,000 บาท (เดิม 5,000 บาท) หากเป็น Secured Loan ซึ่งมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 216 ล้านบาท
ขณะที่ครั้งนี้มีการเพิ่มมาตรการใหม่ในข้อ 3 มาตรการจ่าย ตัด ต้น ซึ่งจะช่วย Unsecured Loan พวกบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งมียอดหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาที่ 874 ล้านบาท
โดยเราคาดว่าลูกหนี้จะเข้าร่วมโครงการน้อย โดยเฉพาะมาตรการจ่าย ปิด จบ และ มาตรการจ่าย ตัด ต้น ที่จะมีลูกหนี้เข้าโครงการน้อยมากเพราะส่วนใหญ่เป็น Unsecured Loan ที่นับตั้งแต่ 31 ต.ค. 24 ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละธนาคารจะมีการ write-off ลูกหนี้กลุ่มนี้ค่อนข้างเร็วภายใน 3-6 เดือน ขณะที่มาตรการจ่ายตรง คงทรัพย์ จะมีลูกหนี้เข้าโครงการเยอะมากกว่า แต่เราเชื่อว่าจะไม่มากนัก เพราะลูกหนี้ที่เข้าโครงการคุณสู้เราช่วยจะไม่สามารถก่อหนี้เพิ่มใน 12 เดือนแรก
ทั้งนี้ธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเรียงจากมาก-น้อยคือ TISCO (68%), KKP (68%), TTB (62%), KTB (46%), SCB (40%), KBANK (28%)
ยังคงน้ำหนักเป็น “มากกว่าตลาด” เลือก KTB เป็น Top pick เราให้น้ำหนักการลงทุนของกลุ่มธนาคารเป็น “มากกว่าตลาด” เพราะ valuation ยังถูก โดยเทรดที่ระดับเพียง 0.65x PBV (-1.25SD below 10-yr average PBV) และระดับ Dividend yield ของกลุ่มที่อยู่สูงถึง 7% จากค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นที่ 3% โดยเรายังคงเลือก KTB เป็น Top pick
- KTB ราคาเป้าหมายที่ 25.00 บาท อิง 2025E PBV ที่ 0.75x (-0.50SD below 10-yr average PBV) เพราะภาพรวมของ NPL มีแนวโน้มที่ดีกว่ากลุ่มเพราะเน้นการปล่อยสินเชื่อให้ภาครัฐเป็นหลัก ด้าน valuation ปัจจุบันซื้อขายที่ระดับต่ำเพียง PBV ที่ 0.65x (-1.00SD below 10-yr average PBV) ส่วนราคาหุ้นยังไม่สะท้อนกำไรรายไตรมาสที่ยืนเหนือระดับ 1 หมื่นล้านบาท อย่างต่อเนื่องมา 5 ไตรมาสติดกัน