News Flash
ธปท. ผ่อนปรนหลักเกณฑ์และขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินและ non-bank ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ธปท. ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ และขอความร่วมมือสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มิใช่สถาบันการเงิน ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยครอบคลุมลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรืออยู่ในระดับสถานการณ์สาธารณภัยสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง โดยมีแนวทางปฏิบัติในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
1. สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถพิจารณาปรับลดอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ให้ต่ำกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดได้ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน
2. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับและสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล สามารถพิจารณาเงื่อนไขวงเงินชั่วคราวกรณีฉุกเฉินให้เกินกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนดได้ เพื่อให้ลูกหนี้มีแหล่งเงินทุนฉุกเฉินเพียงพอสำหรับการฟื้นฟูความเสียหายอันเนื่องมาจากปัญหาสาธารณภัย โดยให้อนุมัติวงเงินดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน
3. สินเชื่อทุกประเภท สามารถให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้เพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรือเพื่อให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจต่อได้ รวมถึงการปรับเงื่อนไข เช่น ลดหรือยกเว้นดอกเบี้ยค่าธรรมเนียม ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้อนุมัติวงเงินโดยเร็ว ไม่เกิน 12 เดือน ทั้งนี้ ระหว่างให้ความช่วยเหลือ ธปท. จะผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ ให้คงการจัดชั้นเดิมเช่นเดียวกับก่อนประสบสาธารณภัยได้ (ที่มา: ธปท.)
Implication
เรามีมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร แม้ว่าดอกเบี้ยรับจะลดลงแต่ถูกชดเชยกับสำรองฯที่ไม่เพิ่มขึ้น โดยเกือบทุกประเด็นคล้ายกับข่าวก่อนหน้านี้ที่ ธปท. จะเร่งหามาตรการด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่เราคาดว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งเราคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลูกหนี้ลงเพียงเล็กน้อย และเป็นการช่วยเหลือเพียงระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ขณะที่มีประเด็นใหม่คือ การให้การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้แบบไม่ต้องจัดชั้นลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้กลุ่มธนาคารผ่อนคลายในการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นได้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ประเด็นที่ 1 การผ่อนผันปรับอัตราชำระขั้นต่ำ (Min Pay) ตามคาด โดยเราคาดว่าบัตรเครดิตน่าจะทำได้ต่ำสุดที่ 5% (เท่ากับช่วงโควิด) ทั้งนี้สัดส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของกลุ่มธนาคารมีแค่ราว 4-6% ของสินเชื่อรวม โดยหุ้นที่มีสินเชื่อบัตรเครดิตจากมากไปน้อย คือ KTB, SCB, KBANK และ TTB
ประเด็นที่ 2 เป็นการให้วงเงินฉุกเฉินชั่วคราวตามคาด ซึ่งเราคาดว่าจะมีจำนวนไม่มาก
ประเด็นที่ 3 การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและสภาพคล่องแก่ลูกหนี้ทุกประเภท ซึ่งมีประเด็นใหม่จากการให้การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยได้แบบไม่ต้องจัดชั้นลูกหนี้ไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งจะช่วยทำให้กลุ่มธนาคารผ่อนคลายในการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ เมื่อปี 2017 และปี 2019 ที่มีสถานการณ์น้ำท่วม ทาง ธปท. ใช้นโยบายนี้เช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อ NIM ของกลุ่มธนาคารแบบไม่มีนัยสำคัญ
เรายังคงน้ำหนักการลงทุนลงเป็น “เท่ากับตลาด” โดยเลือก KTB (ซื้อ/เป้า 21.00 บาท) และ KBANK (ซื้อ/เป้า 155.00 บาท) เป็น Top pick
กลับสู่ด้านบน
DAOL Contact Center Address เลขที่ 87/2 อาคารซีอาร์ซีทาวเวอร์ ชั้นที่ 18 ออลซีซั่นส์เพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
©2025 บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สงวนลิขสิทธิ์