logo
search
flag-th
share-icon

การลดหย่อนภาษีปี 2567 สิทธิประโยชน์ที่คุณไม่ควรพลาด

01

02

03

04

05

06

07


การลดหย่อนภาษีปี 2567 สิทธิประโยชน์ที่คุณไม่ควรพลาด


การจัดการภาษีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้มีรายได้ทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถใช้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินได้ สำหรับปีภาษี 2567 มีหลายมาตรการและสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจที่คุณควรรู้ เพื่อวางแผนจัดการภาษีได้อย่างเหมาะสม 


1. ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว 


ค่าลดหย่อนส่วนตัวเป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งในปี 2567 จะมีการคงอัตราลดหย่อนดังนี้: 

  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนบุตร
    • บุตรคนแรก 30,000 บาท
    • บุตรคนที่สอง เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เพิ่มอีกคนละ 60,000 บาท (โดยบุตรแต่ละคนจะต้องมีรายได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท และต้องมีอายุไม่ถึง 20 ปี)
    • ลดหย่อนบุตรบุญธรรม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหากจะลดหย่อนบุตรบุญธรรม จะลดหย่อนบุตรได้ไม่เกิน 3 คน (รวมบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย) ซึ่งต่างจากกรณีบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ลูกแท้ ๆ)เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
  • ค่าลดหย่อนบิดามารดา คนละ 30,000 บาท (ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกินที่กำหนด)
  • ค่าเลี้ยงดูผู้พิการ/ทุพพลภาพ คนละ 60,000 บาท 


2. ค่าลดหย่อนการออม การลงทุน และประกัน 


การออมเงิน การลงทุน และประกันเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสร้างฐานะทางการเงินได้ดีขึ้น พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมีรายการที่สามารถลดหย่อนได้ ได้แก่: 

  • กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 200,000 บาท
  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองเกษียณอื่น ๆ จะได้สิทธิลดหย่อนไม่เกิน 500,000 บาท ต่อปี)
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) นำมาลดหย่อนภาษีได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
  • กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท
  • กองทุน ThaiESG  ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 300,000 บาท
  • ประกันสังคม นำเงินสมทบมาลดหย่อนภาษีตามยอดจริง ได้สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • เบี้ยประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา และแบบสะสมทรัพย์  สามารถนำมาลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง หากมีประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท
  • เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท ตามที่จ่ายจริง (ประกันชีวิต และประกันสุขภาพตนเอง รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 100,000 บาท)
  • เบี้ยประกันบำนาญ นำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  • ประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท 

ทั้งนี้ เงินออม และเงินลงทุนใน SSF+RMF+ กอช. + PVD / กบข. / กองทุนสงเคราะห์ครู+ประกันบำนาญ ลดหย่อนรวมกัน ไม่เกิน 500,000 บาท 


3. ค่าลดหย่อนเพื่อส่งเสริมการศึกษาและบริจาค 


นอกจากการลงทุนและการออมแล้ว ยังมีการลดหย่อนภาษีในกลุ่มของการส่งเสริมการศึกษาและการบริจาคเพื่อการกุศลอีกด้วย: 

  • การบริจาคเพื่อการศึกษา สามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้
  • การบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
  • พรรคการเมือง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท 


4. ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ/สร้างที่อยู่อาศัย 


ลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับคนที่กู้เงินซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นบ้านเดี่ยว คอนโด ห้องชุด หรืออาคาร ก็ได้ 


5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 


ในแต่ละปีรัฐบาลมักออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยในปี 2567 อาจมีมาตรการใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน ซึ่งอนุญาตให้ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่กำหนด 

  • Easy e-Receipt ลดหย่อนได้ไม่เกิน 50,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นระหว่าง 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นสินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเป็นสินค้าประเภทหนังสือ (รวมถึง e-book) และ สินค้า OTOP
  • เที่ยวเมืองรอง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ตามที่จ่ายจริง สำหรับจังหวัดรอง 55 จังหวัด เฉพาะค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567

  • สร้างบ้านใหม่ปี 2567-2568 ลดหย่อนได้ 10,000 บาท ต่อจำนวนค่าก่อสร้างที่จ่ายจริงทุก 1 ล้านบาท รวมไม่เกิน 100,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 10,000,000 บาท เฉพาะค่าก่อสร้างบ้านใหม่ตามสัญญาจ้างที่ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 – 31 ธันวาคม 2568 

บทสรุป 


สิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2567 มีหลายรายการที่สามารถช่วยลดภาระภาษีของคุณได้ การวางแผนและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าลืมเก็บเอกสารสำคัญและตรวจสอบรายละเอียดให้ครบถ้วน เพื่อนำมาประกอบการยื่นภาษีประจำปีอย่างถูกต้อง 

กลับสู่ด้านบน

combo-icon
certified

บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

DAOL Contact Center 0 2351 1800contactcenter@daol.co.th

DAOL Contact Center Address เลขที่ 87/2 อาคารซีอาร์ซีทาวเวอร์ ชั้นที่ 18 ออลซีซั่นส์เพลส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

logo

and our member companies

บริษัทหลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรีท แมเนจเมนท์บริการสินเชื่อ

©2024 บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สงวนลิขสิทธิ์